วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555

วิชาภาษาไทยชวนรู้

"คำควบแท้" และ "ควบไม่แท้"
อันที่จริงภาษาไทยในฐานะภาษาคำโดดไม่น่าจะมีอักษรควบกล้ำ แต่ในภาษามาตรฐานปัจจุบันนั้นก็มีอยู่ ทั้งๆ ที่ในภาษาไทยถิ่นบางถิ่นนั้นก็ไม่มีเสียงควบกล้ำดังว่า ในแง่ของรูปการเขียนแม้จะมีพยัญชนะต้น 2 ตัวเคียงคู่กัน แต่ในแง่ของการอ่านเรากลับอ่านได้ 2 อย่างคือ อ่านอย่าง “ควบแท้” กับ “ควบไม่แท้”
คำที่มีอักษรควบกล้ำชนิดที่เรียกว่า “อักษรควบแท้” นั้น แม้จะมีไม่มาก แต่ก็เป็นคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จนเป็นความเคยชิน ตัวอย่างเช่น
                    กรด       กลด        ขริบ       ขลิบ
                    ครอก     คลอก      ตราด      ประ
                    ปละ       ผลาญ      พริก       พลิก

ขอให้สังเกตว่า คำควบกล้ำของไทยมีขอบเขตจำกัด ในทางภาษาศาสตร์อาจจะกล่าวได้ว่า เสียงที่จะนำหน้าได้นั้นต้องเป็นเสียงแข็ง อย่าง [p t k] เท่านั้น สำหรับภาษาไทย ก็รวมทั้งเสียงที่มีลมตามออกมาด้วย ดังนี้

* [p] ป
* [ph] พ (ผ ภ)
* [t] ต (ฏ)
* [th] ท (ฐ ฑ ฒ ถ ธ)
* [k] ก
* [kh] ค (ข ฃ ฅ ฆ)

(พยัญชนะที่อยู่ในวงเล็บคือพยัญชนะที่มีวิธีการออกเสียงอย่างเดียวกันกับพยัญชนะที่อยู่นอกวงเล็บ)
เมื่อพิจารณาดูคำควบแท้ในภาษาไทยก็จะเห็นได้ว่า พยัญชนะที่อยู่ในวงเล็บมีคำควบกล้ำน้อยกว่าหรือไม่มีเลย ดังนี้

* [pr] ประ, [pl] ปละ, [phr] พริก, [phl] พลิก ผลาญ
* [tr] ตราด, [tl] -, [thr] -, [thl] -,
* [kr] กรด, [kl] กลด, [khr] ขริบ ครอก, [khl] ขลิบ คลอก
ขอให้สังเกตว่า ภาษาไทยมีเสียงควบแท้ [tr] แต่ไม่มี [tl] ดังจะเห็นได้ว่า คำว่า “ตราด” เราออกเสียงควบกล้ำ แต่คำว่า “ตลาด” เราอ่านแยกเรียงพยางค์ ส่วนเสียง [thr] นั้น แต่เดิมโดนแปลงเสียงเป็น [s] หรือ [ซ] เช่น ทราย ทรุดโทรม ฯลฯ กลายเป็นคำในกลุ่มปิดกลุ่มหนึ่งของภาษาไทย ในปัจจุบันเมื่อเริ่มรับเสียงจากภาษาอังกฤษจึงเกิดเสียงควบกล้ำใหม่ เช่น ทรอย (Troy) ทริป (trip) แต่ก็ยังไม่มีเสียงควบกล้ำ [thl]
คำที่มีเสียงควบแท้ทำท่าว่าจะเป็นคำในกลุ่มปิด เพราะมีสมาชิกจำกัด แต่แล้วอิทธิพลของเสียงจากภาษาอังกฤษก็ทำให้เกิดเสียงควบแท้เสียงใหม่ๆ ขึ้นมาอีก 5 เสียง คือ

* [dr] ดราฟต์ (draft)
* [br] บรอนซ์ (bronze)
* [bl] บล็อก (block)
* [fr] ฟรี (free)
* [fl] ฟลุก (fluke)

คำในกลุ่มนี้จึงกลายเป็นกลุ่มเปิด แต่เปิดในขอบเขตจำกัด เพราะยังมีเสียงควบกล้ำแบบควบแท้อีกมากมายที่คนไทยออกเสียงไม่ถนัด ไม่ว่าจะเป็นคำจากภาษาบาลีสันสกฤต เขมร หรือภาษาอังกฤษก็ตาม เช่น

* เชรา [เชฺรา] (ภาษาเขมร แปลว่า ซอกผา, ห้วย)
* ศฤงคาร [สิงคาน, สะหฺริงคาน] (ภาษาสันสกฤต แปลว่า ความใคร่)
* สแลง (จากภาษาอังกฤษว่า slang)

ขอให้สังเกตว่า คนไทยไม่สามารถจะออกเสียง ช ช้าง ควบกับ ร เรือ ได้ ในกรณีของ “ศฤ” หรือ “สร” ก็ไม่สามารถจะควบกล้ำได้ ต้องใช้วิธีตัดเสียงหรือแทรกเสียงอะ ส่วนเสียง [sl] นั้น คนไทยก็ควบกล้ำไม่ได้ ต้องแทรกเสียงอะ เช่นกัน
ในขณะที่คำควบกล้ำแท้มีลักษณะทั้งปิดและเปิด แต่คำควบกล้ำไม่แท้น่าจะเป็นกลุ่มปิด เพราะมีคำเพียงไม่กี่คำที่อยู่ในกลุ่มนี้ และแทบจะไม่มีคำเพิ่ม เช่น

                    จริง      ไซร้      ศรัทธา     ศรี
                    เศร้า     สรง      สรวง       สรวม
                    สรวย     สรวล    สร้อย       สระ(น้ำ)
                    สร้าง     เสริม
  

คำเหล่านี้ล้วนแต่อ่านออกเสียงโดยไม่มีเสียง ร เรือ ควบ ทั้งสิ้น คำในกลุ่มนี้นอกจากจะไม่มีสมาชิกเพิ่มแล้ว ในปัจจุบันยังเกิดปรากฏการณ์ 2 อย่าง คือ อย่างแรก มีผู้ตัดตัว ร เรือ ทิ้งไป เพราะเห็นว่าไม่ได้ออกเสียงแล้ว เช่น เขียน “จริง” เป็น “จิง” เช่นเดียวกับที่ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันเปลี่ยนรูปการเขียนจาก through เป็น thru อย่างที่สอง บางคนก็เพิ่มเสียงอะลงไป เช่น อ่านคำ “แม่สรวย” เป็น [แม่-สะ-รวย]
ฉะนั้น หากจะเกิดคำใหม่ในภาษาก็น่าจะเกิดขึ้นในกลุ่มควบแท้มากกว่าควบไม่แท้ ถึงแม้ว่าลักษณะควบแท้ของไทยจะมีข้อจำกัดก็ตาม
 


ที่มาข้อมูล : รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ
ราชบัณฑิตยสถาน

ohhwilaiphan@gmail.com
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น